ข้าวโป่ง:ขนมโบราณพื้นบ้านอีสาน(บ้านหนองขาม)
ข้าวโป่ง:ขนมโบราณพื้นบ้านอีสาน ประวัติความเป็นมาของข้าวโป่งขนมโบราณรสอร่อยของคนอีสานนั้น มีมากมายหลายชนิด เช่น ข้าวจี่ ข้าวต้มมัด กระยาสารท ข้าวทิพย์ เป็นต้น บางชนิดก็คล้ายคลึงกับขนมพื้นเมืองโบราณของภาคอื่นๆ ขนมโบราณแต่ละชนิดล้วนมีความผูกผันกับวิถีชีวิตของคนในท้องถิ่นนั้นๆ ซึ่งได้รับการถ่ายทอดจากบรรพบุรุษ ขนมอีสานที่มีคำว่า "ข้าว” นำหน้าอีกอย่างหนึ่งที่ทานแล้วไม่รู้จักเบื่อ นั่นก็คือ "ข้าวโป่ง”เป็นขนมอีสานที่มีมาแต่โบราณ คนทำต้องมีฝีมือพอสมควร
ในสมัยก่อนคนโบราณถือว่าคนที่จะทำข้าวโป่งสวย ไม่มีที่ติ จะต้องเป็นช่างข้าวโป่งโดยเฉพาะ ถึงแม้ว่าจะทำกินก็ตาม ให้ยกย่องช่างข้าวโป่งเหมือนกับช่างแขนงอื่นๆ เช่น ช่างไม้ ช่างทอง เป็นต้น ข้าวโป่งนั้นมีเรื่องเล่าว่าเกิดจากกลุ่มผู้เฒ่าผู้แก่ที่ว่างจากการทำไร่ทำนาจึงได้คิดทำขนมให้เด็กๆได้กินเล่นรวมทั้งได้เป็นเครื่องถวายทานด้วย นอกจากนี้ชาวบ้านยังได้นำไปเป็นส่วนประกอบอย่างหนึ่งในพีธีบูชาข้าวในบุญเดือนสี่ บุญข้าวจี่ ชาวบ้านจะถวายข้าวจี่ ข้าวโป่ง แด่พระสงฆ์ เพื่อแสดงถึงความเคารพ จากนั้นนำบางส่วนใส่กระทงใบตองเอาแล้วนำไปวางที่หน้าธาตุบรรจุกระดูกของญาติตนเอง เพื่อให้คนที่ล่วงลับแล้วนั้นได้รับประทาน และจะมีการนำไปเป็นเครื่องถวายทานด้วยในบุญผะเหวด โดยจะย่างข้าวโป่งเพื่อใส่ในกันหลอนและถวายเป็นคายเทศ ซึ่งในกันหลอนนั้นจะประกอบไปด้วย ข้าวโป่ง ข้าวสาร หอมหัวแดง พริก และข้าวต้มมัด (อ่อนจันทร์ แก้วโภคา. 2555 : สัมภาษณ์)
ตามประวัติความเป็นมา ในการทำข้าวโป่งนั้นไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่ามีการทำตั้งแต่สมัยใด แต่สันนิษฐานว่าเกิดขึ้นในช่วงกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น โดยได้เล่าต่อๆกันมาว่าในสมัยโบราณนั้น เนื่องจากสังคมไทยเป็นสังคมเกษตรกรรม โดยมีการปลูกข้าวเป็นอาชีพหลักที่สำคัญ ดังนั้นข้าวจึงถือเป็นอาหารหลักของคนไทย ซึ่งข้าวที่นิยมปลูกก็จะเป็นข้าวเหนียวและข้าวเจ้า ดังนั้นข้าวจึงเป็นสิ่งที่ถือได้ว่ามีพระคุณต่อชีวิตประจำวันของคนเรา โดยเฉพาะคนอีสานนั้นจะเห็นว่ามีประเพณีที่สำคัญเกี่ยวกับการบูชาข้าว ไม่ว่าจะเป็น ประเพณีกวนข้าวทิพย์ซึ่งจะทำในช่วงออกพรรษา ประเพณีบุญข้าวจี่ การสู่ขวัญข้าว ประเพณีบุญผะเหวด ซึ่งประเพณีเหล่านี้จะมีความสัมพันธ์กับข้าว (หวด ขานหยู. 2551 : 4)
นอกจากนี้ในฮิตสิบสองครองสิบสี่ ยังกล่าวถึงการกินข้าวของชาวอีสานว่าต้องทำบุญก่อนปลูกข้าว ทำบุญตอนปักดำ ทำบุญตอนข้าวตั้งท้องทำบุญตอนเก็บเกี่ยวเสร็จ ทำบุญขนข้าวขึ้นเล้าทำบุญก่อนปิดเล้าทำบุญก่อนเปิดเล้าซึ่งพิธีกรรมเกี่ยวกับข้าวดังกล่าวเป็นกุศโลบายที่ขัดเกลาให้ชาวนาเคารพข้าวและเห็นคุณค่าของข้าวเป็นอย่างยิ่งการทำข้าวโป่งในสมัยก่อนจะมีสูตรและกรรมวิธีอย่างโบราณ และต้องใช้ความอุตสาหะในการทำ คือ จะต้องเอาข้าวเหนียวที่นึ่งสุกแล้วไปตำให้ละเอียดด้วยครกกระเดื่อง ภาษาอีสานเรียกว่า"ครกมอง” เพราะเวลานำข้าวโป่งไปปิ้งจะได้แผ่นข้าวโป่งที่สวยงาม ดังนั้น คนตำจึงต้องมีความอดทนอย่างยิ่ง เพราะการตำข้าวเหนียวนึ่งสุกยากกว่าการตำข้าวเปลือกหลายเท่า ในการตำต้องใช้เวลานาน เพราะครกกระเดื่องนั้นมีน้ำหนักมาก เวลาใช้เท้าเหยียบปลายครกกระเดื่องแต่ละครั้ง ให้สากโขลกลงไปในครกนั้นต้องออกแรงมาก เมื่อตำข้าวเหนียวนึ่งสุกละเอียดดีแล้ว คนอีสานโบราณจะเอาใบตดหมูตดหมาหรือกระพังโหม ขยี้กับน้ำสลัดกับครกไปพลางตำไปพลาง เพื่อให้ข้าวเหนียวจับตัวกันดี ซึ่งถือเป็นเคล็ดลับของชาวอีสานก็ว่าได้ จากนั้นเอาน้ำอ้อยมาโขลกแล้วตำผสมลงไปในครกกระเดื่อง เอาน้ำมันหมูทามือและปั้นข้าวเหนียวเป็นก้อนผสมกับไข่แดง ต่อไปเอาก้อนข้าวเหนียวที่ปั้นวางบนไม้แผ่น รีดให้แผ่ออกเป็นแผ่นบางๆ ตัดใบตองเป็นวงกลมตามขนาดที่ต้องการ ทาน้ำมันหมูลงบนใบตอง แล้วใช้กระบอกไม้ไผ่รีดข้าวเหนียวให้มีขนาดเท่ากับใบตอง แล้วนำไปตากให้แห้งการปิ้งข้าวโป่งจะใช้ฟืนก่อกองไฟขึ้นตรงลานบ้านให้ไฟแรงได้ที่ ใช้ไม้ไผ่ผ่าซีกสานห่างๆรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า 2 อัน มีที่จับ เวลาปิ้งเอาแผ่นข้าวโป่งตากแห้งวางบนไม้สานอันหนึ่ง ใช้มือจับชูอยู่เหนือกองไฟพอประมาณ แล้วพลิกไม้ไผ่สานให้แผ่นข้าวโป่งคว่ำลงบนไม้ไผ่สานอีกอันหนึ่ง ซึ่งใช้มืออีกข้างจับเตรียมรออยู่ใกล้ๆ คนปิ้งจะพลิกไม้ไผ่สานสลับกันไปมาจนกว่าข้าวโป่งจะสุก การพลิกข้าวโป่งจะต้องทำด้วยความรวดเร็ว เพราะข้าวโป่งจะเหลืองเกรียมไม่เสมอกันหรืออาจจะไหม้ได้ ชาวบ้านนิยมทำข้าวโป่งในฤดูหนาว หลังจากการเก็บเกี่ยวแล้วเสร็จ เพราะเวลาปิ้งข้าวโป่งจะอยู่หน้ากองไฟตลอดเวลา ซึ่งจะช่วยให้ความอบอุ่นแก่ร่างกาย อีกทั้งเป็นการพักผ่อนหย่อนใจอีกอย่างหนึ่ง ที่ได้ทำขนมไว้ทานในครอบครัวและแบ่งปันญาติมิตรจะเห็นได้ว่า การทำข้าวโป่งนั้นเรียบง่าย ไม่ต้องลงทุนมาก ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิตที่เรียบง่ายของชาวอีสานมาตั้งแต่โบราณกาลที่พอใจในสภาพความเป็นอยู่และวัฒนธรรมในการกินที่สืบทอดต่อกันมาจวบจนปัจจุบันในปัจจุบัน
พัฒนาการในการผลิตข้าวโป่ง:ขนมโบราณพื้นบ้านอีสาน การทำข้าวโป่งของชาวอีสานยังคงอยู่ แต่กระบวนการผลิตนั้นได้พัฒนาไปจากอดีต เนื่องด้วยความก้าวล้ำของเทคโนโลยีสมัยใหม่ อุปกรณ์ในการทำข้าวโป่งก็ได้ถูกพัฒนาเพื่อให้ผลิตได้ทันต่อการจำหน่าย จากเดิมที่เป็นครกกระเดื่องธรรมดาที่ใช้แรงงานคนในการผลิต ก็ได้มีการพัฒนา นำมอเตอร์มาติดเพื่อใช้พลังงานไฟฟ้า กลายเป็นครกกระเดื่องไฟฟ้าที่สามารถทุ่นแรงได้มากกว่าครกกระเดื่องแบบเดิม อีกทั้งได้มีการปรับปรุงส่วนผสมในการผลิตเพื่อให้เป็นที่นิยมของผู้บริโภค เช่น การผสมน้ำแตงโม เพื่อให้ข้าวโป่งยืดตัวดีและมีความมันวาว การผสมน้ำใบเตย แคลตาลูป
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น